ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สมองของเราทำงานอย่างไร

1. ประสาทรับความรู้สึก
ประสาทรับความรู้สึกมีหลายแบบ ได้แก่ ความรู้สึกสัมผัสเบา ๆ ความรู้สึกสัมผัสอย่างรุนแรง ความรู้สึกอุณหภูมิร้อนเย็น หรือความรู้สึก เจ็บปวด เช่น ถูกเข็มฉีดยา ถูกมีดบาด หรือถูกหยิก ซึ่งเส้นประสาทต่าง ๆ ที่นำความรู้สึกเหล่านี้จะมีขนาดแตกต่างกันด้วย ความรู้สึก สัมผัสเบา ๆ จะนำโดยเส้นประสาทขนาดใหญ่ ที่มีไขมันห่อหุ้มมาก ในขณะที่ความรู้สึกเจ็บปวดนำโดย เส้นประสาทขนาดเล็ก ที่มีไขมันห่อหุ้มน้อย หรือไม่มีเลย ผิวหนังของคนเราจะมีประสาทรับความรู้สึกต่าง ๆ และนำส่งต่อไปยังเส้นประสาทผ่าน ไขสันหลัง ขึ้นไปยังก้านสมอง และขึ้นไปถึงสมองส่วนใหม่ หรือนีโอคอร์เท็กซ์ ส่วนที่เรียกว่า พารายทอลโลบ สมองข้างซ้ายจะรับความรู้สึก จากร่างกาย และใบหน้าทางซีกขวา ขณะที่สมองข้างขวาจะรับความรู้สึกจากร่างกาย และใบหน้าทางซีกซ้าย ในสมองคนเราจะมีแผนที่ว่า ส่วนใดของสมองจะรับความรู้สึกจากส่วนใดของร่างกาย
ped brain
2. การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การควบคุมการทำงานพื้นฐานของการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ในเด็กแรกคลอด จะเป็นไปอย่างไม่มีวัตถุประสงค์ เด็กอายุ 1-2 เดือนจะไม่ ไขว่คว้าของเล่น แต่ก็มีการเคลื่อนไหวของแขน ขา มือ และ เท้า ซึ่งสมองส่วนเซนซอรี่มอเตอร์คอร์เท็กซ์ สมองส่วนทาลามัส และ สมองส่วนเบซาลแกงเกลีย ที่มีเส้นใยประสาท และไขมันค่อนข้างครบถ้วน เมื่อแรกคลอดจะทำหน้าที่พื้นฐานนี้
เมื่อเด็กโตขึ้นสมองมีการเจริญเติบโต พัฒนาการเพิ่มขึ้น ก็จะมีการทำงานอย่างมีวัตถุประสงค์ เช่น เด็ก 4-5 เดือนก็จะเริ่มไขว่คว้า ของเล่น ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานของประสาทการเห็น และการทำงานของกล้ามเนื้อ สมองส่วนหลังของฟรอนทอลโลบ ที่ติดกับ พารายทอลโลบ จะควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อของร่างกาย เช่น สั่งให้ยกมือขึ้นไปจับของเล่น
การควบคุมการทำงาน ของกล้ามเนื้อก็เป็นเช่น เดียวกับ ประสาทการรับความรู้สึกโดยที่จะมีแผนที่ในสมอง สมองข้างซ้าย จะควบคุมการทำงาน ของกล้ามเนื้อข้างขวา ส่วนสมองข้างขวาจะควบคุมการทำงาน ของกล้ามเนื้อข้างซ้าย รวมถึงกล้ามเนื้อใบหน้า การหลับตา การขยับปาก และแขนขาด้วยเช่น กัน คนไข้ที่มีเส้นเลือดตีบ เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองบางส่วนได้ สมองส่วนนั้นก็จะหยุดทำงาน คนไข้จะเป็นอัมพาต ไม่สามารถจะขยับแขนขาข้างตรงข้ามกับสมองที่ขาดเลือดได้
การทำงานของกล้ามเนื้อ แบ่งออกเป็น การทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ตัวอย่างของการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การเดิน การยกมือ การขยับแขนขา การขึ้นลงบันได การถีบจักรยาน ในขณะที่การทำงานของ กล้ามเนื้อมัดเล็กจะเกี่ยวข้องกับการเขียนหนังสือ การติดกระดุม การผูกเชือก การวาดรูป การทำงานฝีมือ การทำงานเหล่านี้ถ้าหากขาดการฝึกฝนตั้งแต่เล็ก ก็จะทำให้ไม่มีทักษะนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นทักษะการทำงาน ของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ หรือทักษะการทำงานของ กล้ามเนื้อมัดเล็กก็ได้
3. การมองเห็น
สมองจะต้องอาศัยการมองเห็นภาพ ซึ่งจะนำไปสู่สมอง ด้วยเส้นประสาทตา และหลังจากนั้นสมองส่วนของการมองเห็น หรือ ออกซิปิทอลโลบ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของสมอง จะพัฒนาโครงสร้าง ที่จะตอบรับภาพ และแปลภาพที่เห็นออกมาให้มีความหมาย โดยอาศัย นีโอคอร์เท็กซ์ และสมองส่วนหน้า การมองเห็นเป็นการทำงานที่ละเอียดอ่อน จะเห็นว่าประสาทตามีเส้นใยประสาท 1 ล้านเส้นใย เทียบกับประสาทหู ซึ่งมีเส้นใยประสาทเพียง 50,000 เส้นใยเท่านั้น
นักวิจัยได้อธิบายถึงเรื่อง การมองเห็นว่า เริ่มด้วยข้อมูล หรือแสงไฟ หรือภาพต่าง ๆ เข้าสู่สายตา ผ่านไปยังจอภาพข้างหลังตา ซึ่งประกอบด้วย เซลล์ประสาท ต่อจากนั้นเซลล์ประสาทก็จะส่งข้อมูลไปยัง สมองที่เกี่ยวกับ การเห็น หรือออกซิปิทอลโลบ โดยผ่านทางเส้นใยประสาท ผ่านซีนแนปส์ หรือจุดเชื่อมต่อ ทำให้เกิดปฏิกิริยาสร้างสารเคมี และเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น การมองเห็นภาพ เป็นส่วนหนึ่งของความคิด แม้กระทั่งคนตาบอดมาตั้งแต่กำเนิดก็สามารถจะคิดจินตนาการรูปภาพได้ การมองเห็นจึงขึ้นอยู่กับ การทำงานของสมอง หรือสมองที่กำลังทำงานอยู่ ในขณะเดียวกันสมองก็ตอบสนอง ต่อการมองเห็นเพราะว่า ตากำลังทำงานอยู่ นักวิจัยยังค้นพบอีกว่า สมองพยายามที่จะสร้างแผนที่เกี่ยวกับ การมองเห็นขึ้นมาในสมอง โดยเฉพาะถ้าหากว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งขาดไป เช่น ถ้าหากเรามอง รูปภาพวงกลมมีเส้นโค้งขาดเป็นช่วง ๆ สมองก็จะพยายามเอาข้อมูลมาใส่ตรงช่องว่างที่หายไป ทำให้เกิดภาพของวงกลม การเห็นภาพต่าง ๆ ของเราเกิดจากตาประมาณ 20 % ในขณะที่อีก 80 % เกิดจากการทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับ การเห็น ข้อมูลเกี่ยวกับ การเห็นจะไปรวมกันที่ศูนย์กลางของการเห็น ที่อยู่ตรงส่วนกลางของสมองที่เรียกว่า แลทเทอรอล เจนนิคูเลท นิวเคลียส (Lateral Geniculate Nucleus-LGN) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ การเห็น มาทูรานา และวาเรรา ยังบอกอีกว่า เรามองเห็นผลส้มเป็นสีส้มได้แม้ว่า ในขณะนั้นจะไม่มีคลื่นแสงที่ทำให้เกิดสีส้มเลยก็ตาม เพราะสมองได้เก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ก่อนแล้ว และแปลผลออกมาเป็นสีส้ม
จากการทดลองยังพบอีกว่า ในขณะที่เรามองหน้าคนคนหนึ่ง สมองของเราส่วนที่มองเห็นใบหน้าจะแปลภาพออกมาว่า นี่คือ ใบหน้า และสมองส่วนอื่น แปลสีหน้าของคนคนนั้นว่า เป็นอย่างไร เช่น มีความสุข เศร้า หรือ โกรธ ในขณะที่สมองอีกส่วนก็จะเชื่อมข้อมูลว่า คนหน้าตาแบบนี้คือใคร แล้วเอาข้อมูลต่าง ๆ มาผสมกันออกมาว่าคนหน้าตาอย่างนี้คือใคร ชื่ออะไร กำลังดีใจ หรือเสียใจ หรือมีอารมณ์ อย่างไร เด็กเล็ก ๆ สามารถตอบสนองต่อวัตถุที่สัมผัสก่อน จะเห็นวัตถุนั้นด้วยซ้ำไป ข้อมูลจากประสาทสัมผัส อื่นที่ไม่ใช่สายตา ก็สามารถส่ง ข้อมูลเข้าไป ในสมองส่วนต่าง ๆ ที่เป็นแผนที่ และช่วยให้สมองสร้างภาพได้เช่น กัน การสร้างภาพ หรือการมองเห็นภาพ จึงเกิดจาก สมองส่วนใดส่วนหนึ่งทำงาน
ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นภาพที่ต้องใช้ความคิด สมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ก็จะทำงาน แต่ถ้าภาพนั้นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา เป็นภาพ เกี่ยวกับ อารมณ์ สมองส่วนที่เกี่ยวกับ อารมณ์ หรือลิมบิกเบรนก็จะทำหน้าที่ หรือถ้าเป็นภาพที่ค่อนข้างจะคงที่ และสามารถ ส่งข้อมูลเข้า สายตาสู่ประสาทตาโดยตรง ก็จะทำงานโดยสมองอาร์เบรน
นอกจากนั้นสมองยังมี ความสามารถ ที่จะจับจ้อง หรือเลือกมองเห็นเฉพาะสิ่งที่สนใจเท่านั้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ท่ามกลาง สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น