ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การได้ยิน

4. การได้ยิน
เมื่อเด็กอายุประมาณ 1 ปี สมองมีการสร้างแผนที่การได้ยินอย่างสมบูรณ์ เช่น เสียงนี้เซลล์ประสาทส่วนนี้รับผิดชอบ อีกเสียงหนึ่ง เซลล์ประสาท อีกที่รับผิดชอบ เป็นต้น เมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะไม่สามารถแยกเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนได้ เพราะจะไม่มีเซลล์ประสาท ที่ตอบสนองต่อเสียงนั้น เนื่องจากไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะฉะนั้นการที่เด็กยิ่งโตการเรียนรู้ภาษา ก็จะเป็นได้ยากขึ้น เนื่องจาก ไม่มีเซลล์ประสาท ที่ยังไม่ถูกจัด แผนที่เหลืออยู่ หรือไม่มีเซลล์ประสาทที่ยังไม่ถูกใช้งานไปใช้เรียนรู้ภาษา หรือคำใหม่ ๆ ได้ การเรียนรู้คำศัพท์ก็เช่น กัน ถ้าเด็กเล็ก ๆ มีแม่เป็นคนพูดเก่ง เด็กจะรู้คำศัพท์มากกว่าเด็กที่แม่ หรือพี่เลี้ยงพูดไม่เก่ง เช่น การวิจัยของ แจเนลเลน ฮัทเทนโลเคอร์ (Janellen Huttenlocher) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่า เด็กอายุ 20 เดือน ถ้าหากมีแม่คุยเก่ง เด็กก็จะรู้คำศัพท์มากถึง 131 คำ มากกว่าเด็กที่แม่พูดไม่เก่ง
ตอนยังเป็นทารกในครรภ์ เซลล์ประสาทก็มีความไวต่อการได้ยิน เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 4 เดือนครึ่ง อวัยวะที่เกี่ยวกับ การได้ยินพัฒนา จนสมบูรณ์แบบแล้ว สมองส่วนที่เรียกว่า เทมโพราลโลบ ซึ่งอยู่ด้านข้างของสมองทั้งซ้าย และขวา เป็นสมองส่วนที่สำคัญที่สุด เกี่ยวกับ การได้ยิน คือมีหน้าที่ทำงานเกี่ยวกับ การได้ยิน พบว่าในสมองของเด็กแรกเกิด สมองส่วนนี้มีไขมัน หรือมันสมองห่อหุ้ม เส้นใยประสาท เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่สมองส่วนอื่นยังเพิ่งสร้างไขมัน หรือมันสมองห้อมล้อม เส้นใยประสาท ทารกในครรภ์ไม่เพียง ได้ยินเพียงอย่างเดียว แต่สามารถที่จะพยายามเลียนเสียง หรือเรียนรู้เกี่ยวกับ คำพูด พยายามขยับกล้ามเนื้อ ที่เกี่ยวกับ การออกเสียง โดยเฉพาะใน ลักษณะของการร้องไห้ด้วย ซึ่งทำให้เด็กสามารถร้องไห้ทันทีหลังคลอด คลื่นเสียงที่มาจากที่อื่น ๆ หรือรับมาจากประสาท ส่วนอื่น ก็จะส่งไปที่กลุ่มของประสาทสัมผัสที่อยู่ด้านในสุดของหู คลื่นที่เข้าไปนี้จะปรับเปลี่ยนคลื่นที่มีอยู่แล้วตามปกติ ทำให้เกิดเป็นคลื่นรูปต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ หนึ่ง คลื่นที่มีความถี่คงที่ สอง คลื่นที่มีความถี่เปลี่ยนแปลงไปมา ตลอดเวลา และสาม คลื่นที่เป็นผลลัพท์ระหว่างสองคลื่นแรก หลังจากมีการปรับตัวแล้ว คลื่นทั้งสามแบบนี้จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ออกมา เป็นความสูง ความลึก และความกว้าง สมองสามารถอ่าน หรือแปลข้อมูลของแสง และเสียงจากข้อมูลที่มีอยู่แล้วในแผนที่ในสมอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยู่ในห้องมืด ๆ และได้ยินเสียงจุดไม้ขีดไฟ เราจะมีความรู้สึกว่าได้กลิ่นกำมะถัน และเห็นแสงไฟ หมายความว่า ในโลกที่เรารู้จักนี้ เราสามารถจะบอกตำแหน่ง หรือความเป็นไปของ สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ได้จากผล 3 อย่าง คือ หนึ่ง ข้อมูล หรือคลื่น หรือกระแสไฟฟ้า จากสมองของเราเอง สอง ข้อมูล หรือคลื่น หรือกระแสไฟฟ้าจากโลกภายนอกที่เข้ามา และสาม คือผลรวมระหว่าง คลื่นทั้งสอง ผลลัพท์ของกระแสไฟฟ้าสูงสุด ท่ามกลางเซลล์ประสาทเหล่านี้ วัดจากประสาทสัมผัสทั่วร่างกาย
สมองส่วนลิมบิกเบรน หรือสมองส่วนอารมณ์ สามารถจะตอบสนองต่อคลื่นเสียงต่าง ๆ ที่เข้ามาถึงตัวเรา ด้วยการอาศัยความช่วยเหลือ จากนีโอคอร์เท็กซ์ หรือสมองส่วนใหม่แปลคลื่นเสียงออกมาโดยตรง
สมองส่วนลิมบิกเบรน หรือสมองส่วนอารมณ์กับสมองส่วนอาร์เบรน มีความเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด สมองส่วนลิมบิกเบรน จะรับรายงาน จากสมองส่วนอาร์เบรน ขณะเดียวกันก็ส่งข้อมูลไปที่นีโอคอร์เท็กซ์ด้วย ผลลัพท์ของการติดต่อระหว่างสมองส่วนต่าง ๆ นี้จะส่งไปที่ประสาท รับการได้ยิน และการทรงตัวที่หูส่วนใน ซึ่งทำให้บอกได้ว่าเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยินมาจากที่ใด การได้ยินนี้เปรียบได้กับ การเห็น สายตาเรา จะส่งรูปภาพเข้าไปในสมอง แล้วสมองก็จะใส่ข้อมูลลงไปตามช่องว่าง และส่งข้อมูลกลับออกมา ทำให้เรามองเห็นภาพครบบริบูรณ์
5. สมองกับความฉลาด และความคิด
เราไม่สามารถบอกได้ว่า สมองส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือจุดใดจุดหนึ่ง มีหน้าที่เกี่ยวกับ ความฉลาด และความคิด แต่เชื่อกันว่า สมองส่วนใหม่ ที่เรียกว่า นีโอคอร์เท็กซ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับ ความฉลาด และความคิด
ความฉลาด (Intelligence) เป็นสิ่งที่เราใช้ในการตัดสินใจเรื่อง ต่าง ๆ หรือเป็นสิ่งที่มาจาก สมอง และความรู้สึกนึกคิด ถ้าสมองยิ่ง สลับซับซ้อนมาก และพัฒนาได้สมบูรณ์ สมองจะมีความสามารถ ที่จะเรียนรู้ และมีประสบการณ์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เก็บข้อมูล ใส่กลับเข้าไปในสมอง ทำให้สมองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประสบการณ์ที่เราได้มานั้น ทำให้พฤติกรรมการตอบสนอง ของเราต่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย
สมองของเราเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก เซลล์ประสาทสามารถที่จะเก็บข้อมูล แปลข้อมูลที่เข้ามาเป็นคลื่นกระแสไฟฟ้า แล้วเก็บไว้เป็น ประสบการณ์อยู่ในสมอง เปรียบได้กับ คลื่นไฟฟ้าที่โทรทัศน์รับเข้ามา แล้วแปลออกมาเป็นภาพบนจอให้เราเห็น คลื่นสมอง หรือคลื่นไฟฟ้าในสมองจะเป็นตัวกำหนดลักษณะ ของสิ่งที่เรารับรู้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพ สติปัญญา อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกตัว และอื่น ๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ยังสร้างสนามกระแสไฟฟ้าที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น สนามกระแสไฟฟ้าที่เฉพาะ สำหรับคณิตศาสตร์ หรือเฉพาะสำหรับดนตรี ศาสนา หรืออื่น ๆ ซึ่งจะรับแต่กระแสไฟฟ้าที่เหมือน ๆ กันเข้ามาอยู่ในสนามเดียวกัน
ทฤษฎีของขั้นตอนที่ทำให้คนเราเกิดความคิดที่นำไปสู่ความสำเร็จอย่างละเอียดว่า ขั้นตอนแรก เริ่มจากคนเราเกิดความคิดสร้างสรรค์ คิดโครงการ หลังจากนั้นจะประสบปัญหา ก็พยายามหาทางแก้ไขปัญหา บางครั้งอาจจะเหนื่อยล้าจนหมดกำลังใจ ถึงกับคิดจะยกเลิก โครงการ แต่ในที่สุดทางแก้ปัญหาที่ดี และถูกต้อง ก็ผุดขึ้นมาเองโดยไม่คาดฝัน ขั้นตอนเหล่านี้อธิบายได้ว่า ในสมองของเราขณะที่ เราเบื่อหน่าย และอยากจะเลิกทำสิ่งที่คิดไว้ จิตใต้สำนึกของเราก็ค่อย ๆ เอาชิ้นส่วนข้อมูลแต่ละอย่างมาประกอบกันเหมือนกับภาพต่อ แล้วในที่สุดก็ได้คำตอบออกมา
ความคิดริเริ่ม หรือความคิดสร้างสรรค์ของนักวิทยาศาสตร์ หรือศิลปินแบบนี้ เปรียบได้กับเด็กปัญญาอ่อนแต่มีความสามารถพิเศษ คือ อยู่ ๆ ความคิดสร้างสรรค์ หรือคำตอบก็ออกมาเอง โดยมีความแตกต่างอยู่ที่ว่า ความคิดสร้างสรรค์ของนักวิทยาศาสตร์จะดำเนินต่อไปได้ ในขณะที่เด็กปัญญาอ่อนแต่มีความสามารถพิเศษ เพียงแค่รู้คำตอบแต่ไม่สามารถจะทำอะไรได้มากไปกว่านั้น
ความฉลาด หรือ ความสามารถเฉพาะด้านอย่างเช่น ภาษา เกิดจากวงจรของกระแสไฟฟ้าของเซลล์ประสาทในสมองของเรานั่นเอง ซึ่งมาจากพัฒนาการของสมองที่นำเอาข้อมูลจากสิ่งกระตุ้น และการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเก็บเข้ามาเป็นโครงสร้างของความรู้ เหมือนเรา เก็บข้อมูล (save) ไว้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราสามารถจะเรียกขึ้นมาใช้เมื่อไรก็ได้ ธรรมชาติจะค่อย ๆ ทำให้เรามีความสามารถ หรือมีความฉลาดขึ้นเป็นลำดับ ตามช่วงเวลาของพัฒนาการ หรือระยะเวลาที่เหมาะสม
ถ้าหากเราดูแลในเรื่อง ของสติปัญญา หรือความฉลาดของเด็ก ไม่เหมาะสม โดยเร่งมากเกินไป หรือปล่อยปละไม่สนใจให้เด็ก ได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมตามวัย จะทำให้มีปัญหาทางด้าน สติปัญญา หรือความฉลาดได้ เปรียบเสมือนเนื้อสเต็ก ไม่เหมาะที่จะเป็น อาหารสำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่มีฟัน หรือนมแม่ก็ไม่เหมาะสำหรับเด็กวัยรุ่น เป็นต้น
สิ่งที่เด็กต้องการ สำหรับการพัฒนา สติปัญญา และความฉลาด คือ สิ่งแวดล้อม หรือการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสม ผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรมีความรู้ ในการเลี้ยงดูเด็ก ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลเข้าไปสร้างเป็นโครงสร้างความรู้ในสมอง แต่สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องคำนึงถึง ความเหมาะสม กับวัยของเด็กด้วย
ถึงแม้เราไม่สามารถบอกได้ว่า ความฉลาดอยู่ที่ส่วนใดของสมอง แต่สมองข้างซ้าย และ สมองข้างขวา ก็จะมีส่วนร่วมในการ ทำงานที่เกี่ยวกับ ความฉลาดด้วย สมองข้างซ้าย และสมองข้างขวา นอกจากจะควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ และรับประสาทสัมผัส ความรู้สึกจากร่างกาย ด้านตรงข้ามแล้ว ยังมีหน้าที่แตกต่างกัน ในเรื่อง ของการเรียนรู้ด้วย

สมองข้างซ้าย จะมีหน้าที่ คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีสามัญสำนึก การจัดระบบ การดูแลรายละเอียด และการทำงานที่จะต้องทำทีละอย่าง การควบคุมเกี่ยวกับ ภาษา ตัวเลข สัญลักษณ์ต่าง ๆ การแสดงออก (expression) การวิเคราะห์ การพูด การเขียน

ส่วนสมองข้างขวามีหน้าที่เกี่ยวกับ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ สัญชาตญาณ การสังเคราะห์ ศิลปะ ดนตรี และเรื่อง ของทิศทาง เป็นส่วนที่ค่อนข้างผ่อนคลาย เป็นสมองที่เป็นจิตใต้สำนึกมากกว่า ในขณะที่สมองข้างซ้ายเป็นส่วนที่อยู่ในจิตสำนึก สมองข้างขวา จะทำหน้าที่สร้าง กระบวนการต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว สามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งตรงกันข้ามกับ สมองข้างซ้าย ที่จะทำได้ทีละอย่าง สมองข้างขวา จะมองภาพแบบรวม ๆ มากกว่า เจาะรายละเอียด เหมือนสมองข้างซ้าย สมองข้างขวา มีหน้าที่เกี่ยวกับ การรับรู้ เข้าใจ (reception) มากกว่า สมองข้างซ้าย ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับ การแสดงออก

อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่แต่ละอย่างสมองทั้งสองข้าง จะทำงานประสานกัน แต่สมองข้างใดข้างหนึ่ง อาจจะทำงานมากกว่า อีกข้างหนึ่ง เช่น เมื่อได้ยินเสียงดนตรี และรู้ว่านี่คือ เสียงดนตรี จะเป็นหน้าที่ สมองข้างขวา แต่ความซาบซึ้งในเสียงเพลง สมองทั้งสองข้าง จะทำงานพร้อมกัน การทำงานของสมองสองข้างนี้ ยังแตกต่างกัน ในเรื่อง การหาความหมาย ของคำพูดมากกว่า ความหมายของเสียง จากสิ่งแวดล้อม จากการทดลองที่จะดูว่า เสียงที่เป็นคำพูด และเสียงที่ไม่เป็นคำพูด เช่น เสียงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความแตกต่าง ของกระแสไฟฟ้าในสมอง พบว่า เสียงที่เป็นคำพูด ที่มีความหมาย จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้า ในสมองข้างขวา มากกว่าสมองข้างซ้าย แต่ถ้าใช้เสียงจาก สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีความหมาย ก็พบว่ากระแสไฟฟ้าจะเกิดขึ้น ในสมองข้างซ้ายมากกว่า ในสมองข้างขวา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น