ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สรุป

การทำงานของสมอง ตั้งแต่ระดับเซลล์ประสาทจนถึงหน้าที่ต่าง ๆ ของสมอง การทำงานของเซลล์ประสาทซึ่งมีอยู่ 1 แสนล้านเซลล์ ใช้ระบบสารเคมี ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า เซลล์ประสาทตัวที่หนึ่งอาจจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทตัวที่สอง และเซลล์ประสาท ตัวที่สาม อาจจะยับยั้ง การทำงาน ของเซลล์ประสาทตัวที่สอง ผลลัพท์ระหว่างการกระตุ้น และการยับยั้งจะสั่งให้เซลล์ประสาท ทำงาน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้น หรือยับยั้งก็ได้
เซลล์ประสาทเหล่านี้จะทำงานกัน เป็นกลุ่ม เซลล์ประสาท 1 ตัวจะติดต่อกับ เซลล์ประสาทอื่นเป็นหมื่น ๆ เซลล์ โดยผ่านทาง เส้นใยประสาท และจุดเชื่อมต่อ เซลล์ประสาท เหล่านี้จะรับความรู้สึก และบอกได้ว่าส่วนใดของร่างกายได้รับความรู้สึก เพราะสมองคนเรา มีแผนที่ในสมอง เช่น เดียวกับการสั่งให้กล้ามเนื้อทำงาน สมองก็จะมีแผนที่สั่งให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีการเคลื่อนไหว
สำหรับการมองเห็น และการได้ยิน อาศัยข้อมูลจากภายนอกเข้ามาในสมองผ่านทางประสาทตา หรือประสาทหู ก่อให้เกิดคลื่นกระแสไฟฟ้า ในสมองส่วนที่ทำหน้าที่นั้น ๆ ซึ่งอาจจะอยู่ไกลกัน แต่นำข้อมูลมาประกอบกัน เช่น การเห็นวงกลม เซลล์ประสาทแต่ละกลุ่ม จะเห็นเป็นเส้นโค้ง ๆ เมื่อมาประกอบกันเส้นโค้งเหล่านี้จะกลายเป็นวงกลม
ความฉลาด และความคิด เป็นเรื่อง ที่ไม่สามารถจะบอกได้ว่ามาจากส่วนใดของสมอง แต่ที่ทราบกันคือ นีโอคอร์เท็กซ์ หรือสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสมัยใหม่ทำหน้าที่นี้ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกให้ข้อมูลเข้าไป ถ้าหากเราเร่ง หรือกระตุ้นเด็กมากเกินไป หรือในทางตรงกันข้ามปล่อยปละละเลยไม่สนใจให้เด็กได้รับข้อมูลอย่างเหมาะสมตามวัย ก็จะทำให้มีปัญหาทางด้านสติปัญญา และความฉลาด
มีข้อมูลใหม่ ๆ พบว่าสมองเรามีความจำสมุดทด หรือ เวิร์กกิ้ง เมมโมรี่ (Working Memory) และความจำระยะยาว การให้ข้อมูลซ้ำ ๆ การท่องจำ จะทำให้จำได้ดี การที่สมองจะกำหนดว่าข้อมูลใดควรเก็บเป็นความจำระยะยาวขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ปัจจัย คือ อารมณ์ และข้อมูลที่เข้ามาใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลเดิม หรือความรู้เดิม หรือประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อน
ในเรื่อง การเรียนรู้ภาษา การเรียนรู้ภาษาอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในช่วง 7 ปีแรก ของชีวิต หลังจากนั้นจะเป็นการเรียนรู้แบบนามธรรม และภาษาที่สลับซับซ้อน ซึ่งเป็นการทำงานของสมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ เพราะต้องใช้ความคิด และความฉลาดในการ เรียนรู้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น