ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System)

9. ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System)
ระบบประสาทอัตโนมัติ ประกอบด้วย ประสาท 2 ส่วน ที่เรียกว่า ซิมพาเทติก (Sympathetic) และ พาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุม การทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อหัวใจ และต่อมต่าง ๆ ของร่างกาย ควบคุมการทำงาน ของเส้นเลือด ความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ ม่านตา การไหลของ เหงื่อ น้ำตา และน้ำลาย การเคลื่อนไหวของลำไส้ การควบคุมกระเพาะปัสสาวะ และความผิดปกติทางเพศ การทำงานต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นจะต้องอาศัยการ ทำงานที่ได้สมดุลของ ระบบประสาทอัตโนมัติ ทั้งสองระบบ ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำงานโดยผ่านการหลั่งสารเคมีที่สำคัญ คือ อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) และ นอเอพิเนฟริน (Norepinephrine) สมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของประสาทอัตโนมัตินี้จะอยู่ที่สมองด้านหลัง หรือส่วนที่เป็น แกนกลางของสมอง ซึ่งจะมีกลุ่มของเซลล์ประสาท ที่อยู่นอกเหนือจากสมอง และไขสันหลัง นอกจากกลุ่มของเซลล์ประสาทที่อยู่ที่แกนสมอง ที่ควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติแล้ว ยังมีการควบคุม การทำงานของเซลล์ประสาทเหล่านี้จากสมองส่วนเหนือขึ้นไป ซึ่งจะมาจากสมองส่วนหน้า คือ ฟรอนทอลโลบ สมองส่วนที่เกี่ยวกับ อารมณ์ และสมองส่วนกลาง ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบต่อมไร้ท่อ
ตัวอย่างการทำงาน ของระบบประสาทอัตโนมัติที่มีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น หากคนเรา หรือสัตว์เกิดความกลัว เตรียมพร้อมที่จะหนี หรือจะสู้ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็จะตอบสนองโดยสมองจะอยู่ในภาวะตื่นตัว การเต้นของหัวใจจะเร็วขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น ม่านตาจะขยาย ระบบลำไส้จะทำงานน้อยลง อาจจะมีเหงื่อออกมาก ถ้าเป็นสัตว์ก็จะแสดงอาการขู่คำราม ขนลุกชัน เตรียมพร้อมที่จะสู้ หรือหนี ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้เป็น ปฏิกริยาตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติ
แต่ถ้าสัตว์ หรือคนเราอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลาย ไม่มีความกลัว หรือเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ ระบบการเต้นของหัวใจจะเต้นอย่าง สม่ำเสมอ ระบบการหายใจเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ระบบทางเดินอาหารเกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลำไส้อย่างราบรื่นสมบูรณ์
การควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก ยังควบคุมผ่านการทำงานของต่อมหมวกไตด้วย ต่อมนี้จะหลั่งสารเคมีที่เรียกว่า เอพิเนฟริน (Epinephrine) หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ อะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งมีหน้าที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ม่านตาขยาย คือมีการทำงานของระบบซิมพาเทติกเพิ่มมากขึ้น ถ้าเกิดความกลัวมาก ๆ ระบบขับถ่ายก็จะหยุดทำงานด้วย หรือหากกลัว มากเกินไป ก็ไม่สามารถจะยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ ของระบบขับถ่ายได้ เพราะฉะนั้นคนบางคนจะกลัวจน ปัสสาวะอุจจาระราด จะเห็นว่าอาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลการทำงาน ของระบบประสาทอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีระบบประสาท อีกส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่สำคัญเช่น กัน ในการควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย สมองส่วนนี้เรียกว่า ไฮโปทาลามัส ซึ่งจะอยู่ใกล้ ๆ กับสมองส่วนลิมบิก หรือสมองส่วนของอารมณ์
สมองส่วนไฮโปทาลามัส จะควบคุมอวัยวะภายในร่างกายผ่าน ทางระบบประสาทอัตโนมัติที่กล่าวไปแล้ว และควบคุมระบบต่อมไร้ท่อ ที่สร้างฮอร์โมนที่จะไปควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย อย่างเช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต นอกจากนั้นยังควบคุมความสมดุลของน้ำ ให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้มีปริมาณของน้ำ และเกลือแร่ที่สมดุลในร่างกาย ควบคุมการกินที่ทำให้กินจุมากน้อย ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้สูงขึ้น หรือต่ำลง ควบคุมการนอนหลับ
การควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อ โดยผ่านต่อมใต้สมอง ต่อมใต้สมอง จะสร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่ควบคุมต่อมไร้ท่อต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล การทำงานที่เป็นปกติของต่อม ไร้ท่อเหล่านี้เป็นผลมาจาก การควบคุมระดับฮอร์โมน ในร่างกาย ให้อยู่ในระดับปกตินั่นเอง

สารเคมีในสมอง : สารสื่อนำประสาท Neurotransmitter

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการทำงานของเซลล์ประสาทเกิดจากปฏิกิริยาเคมี มีการหลั่งสารเคมี และเกิดประจุไฟฟ้า เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นใน เส้นใยประสาท ซึ่งจะส่งไปตามเซลล์ประสาทต่าง ๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาการทำงานของสมอง สารเคมีในสมองมีมากมาย หลายชนิด แต่จะขอกล่าวถึงเฉพาะสารเคมีที่สำคัญ คือ
  • อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) เป็นสารเคมีที่มีหน้าที่เกี่ยวกับ ความจำ
  • เอนดอร์ฟิน (Endorphins) เป็นสารเคมีที่ทำให้เรารู้สึก ผ่อนคลายหายเจ็บปวด การทำงานของเอนดอร์ฟินที่เกิดขึ้นในสมอง จะคล้าย ๆ การทำงานของสาร หรือยามอร์ฟีน (Morphine) ที่ใช้ในทางการแพทย์ ในคนไข้ที่ได้รับความเจ็บปวดมาก ๆ เมื่อฉีดมอร์ฟีน เข้าไปจะทำให้ ความเจ็บปวดลดลง เกิดอาการผ่อนคลาย สารเอนดอร์ฟินในสมองก็มีการทำงานแบบนี้เช่น กัน
  • เมลาโทนิน (Melatonins) สารนี้จะทำให้คนเราหลับสบาย จึงมีการนำสารเมลาโทนิน มาช่วยทำให้นอนหลับ โดยเฉพาะคนที่เกิด อาการ เจ็ตแล็ก (jet lag) หรืออาการนอนไม่หลับเมื่อเดินทางโดยเครื่องบิน และมีการเปลี่ยนเวลาจากซีกโลกหนึ่งไปอีก ซีกโลกหนึ่ง
    เซโรโตนิน (Serotonins) ถ้าสมองมีสารนี้ในระดับที่พอเหมาะ จะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด มองโลกในแง่ดี ถ้าหากมีระดับสารเซโรโตนินต่ำ ก็จะทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า
  • ซับสแทนซ์พี (Substance P) เป็นสารเคมีที่ทำให้เรารู้สึก เจ็บปวด สารตัวนี้จะเป็นตัวสื่อความเจ็บปวด และยาเช่น มอร์ฟีน หรือสารเอนดอร์ฟิน สามารถลดการทำงาน ของซับสแทนซ์พี ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดน้อยลง
นอกจากที่กล่าวมานี้ ยังมีสารเคมีอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งจะต้องทำงานประสานกัน และอยู่ในระดับสมดุล จึงจะทำให้ร่างกาย และสมองของเราอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น