ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การเรียนรู้ภาษา การสร้างบุคลิกภาพ

7. การเรียนรู้ภาษา
ภาษาเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ กล้ามเนื้อของเรามีการเคลื่อนไหวตอบสนองต่อเสียงแบบอัตโนมัติ ซึ่งเกิดขึ้น ตั้งแต่เป็นทารก ในครรภ์อายุประมาณ 7 เดือน และหลังคลอดสมองก็พร้อมที่จะทำงานได้ทันที เพราะเส้นใยประสาท และระบบประสาท ทั้งหลายมีพร้อมอยู่แล้ว ต้องการเพียงแค่สิ่งกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ก็จะเกิดการเรียนรู้ภาษาขึ้น ต่อคำถามว่า เด็กเรียนรู้ที่จะพูด ได้อย่างไร ก็ต้องรู้ว่าสมองเกี่ยวกับ การพูดทำงานอย่างไร การพูดของคนเราเกิดจากการทำงาน ของกลุ่มเซลล์ประสาท ที่ติดต่อถึงกัน เพื่อสร้างคำพูดขึ้นมา ซึ่งแต่ละคำอาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกับคำอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในกลุ่มเซลล์ประสาทที่สร้างคำพูดนี้ ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ เพื่อที่จะใช้เรียกคำแต่ละคำ สิ่งของแต่ละสิ่ง เช่น ผลไม้ ดอกไม้ หน้าตา หรืออื่น ๆ ด้วยการทำงาน ติดต่อกันของกลุ่มเซลล์ประสาท ทั้งหมด หรือระหว่างกลุ่มเซลล์ประสาทกลุ่มย่อย ๆ นี้ จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ภาษาขึ้น นอกจากนั้น ยังมีการใส่คำใหม่ ๆ เข้าไปในสมอง หรือเรียนรู้คำใหม่ ๆ ตลอดเวลา ซึ่งเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงการเชื่อมโยง ระหว่าง กลุ่มเซลล์ประสาทกลุ่มเก่า กับกลุ่มใหม่อยู่ตลอดเวลา การติดต่อไปมาอย่างนี้ ในที่สุดสมองทุกส่วนก็จะล่วงรู้คำคำใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ในคนไข้ที่เป็นโรคสมองอักเสบ คือ มีความผิดปกติในเซลล์ประสาทกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้เสียความสามารถ ในเรื่อง ของภาษาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเซลล์ประสาทกลุ่มนั้น ทำให้ไม่สามารถเรียกชื่อบางชื่อได้ เช่น ไม่สามารถจะเรียก "ดอกไม้" ได้ เพราะโรคสมองอักเสบ ได้ทำลาย กลุ่มเซลล์ประสาท ที่ทำหน้าที่เรียกคำว่า "ดอกไม้"
ในเรื่อง ความเข้าใจภาษานั้น สังเกตได้จากการเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ของเรา คือ เมื่อเราได้รับการสอนให้อ่านออกแล้ว เราสามารถเกิดความเข้าใจข้อความที่อ่านทั้งหมดแม้ว่าในข้อความนั้นอาจจะมีคำใหม่ ๆ บางคำที่เราไม่เข้าใจแทรกอยู่ก็ตาม โดยไม่จำเป็นต้องไปเปิดพจนานุกรมดูความหมายคำที่ไม่เข้าใจ สมองจะพยายามใช้ความเข้าใจประโยคทั้งหมดเพื่อจะแปลคำใหม่นี้ หลังจากที่แปล คำใหม่ได้แล้ว สมองจะพยายามเก็บคำใหม่นี้ไว้ในสมอง
ส่วนในเรื่อง การออกเสียง จะพบว่าการออกเสียงที่เรียกว่า โฟเนติก (Phonetic) คือ การเปล่งเสียงออกมาเป็นคำ ๆ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ถึงแม้ภาษาที่คนทั่วโลกใช้จะมีเป็นพัน ๆ ภาษา แต่ว่าแต่ละภาษาสร้างขึ้นจากการเปล่งเสียงออกมาเป็นคำ ๆ ประมาณแค่ 50 เสียงเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับเลขคณิตที่ใช้ตัวเลขแค่ 0-9
สำหรับการเขียนจะมีความสลับซับซ้อน เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย การทำงานของสมองในการเขียนยังต้องอาศัยการเชื่อมโยงของคำ แต่ละคำเช่น เดียวกับการพูด นอกจากนั้นยังต้องอาศัยทักษะ และการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมือด้วย
ความจริงเราไม่จำเป็น ต้องสอนภาษาให้เด็กทารก หรือเด็กเล็ก ๆ เพราะการเรียนรู้ภาษาจะเป็นไปโดยอัตโนมัติเหมือนกับฟันขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือเด็กจะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่มีการพูดคุย มีข้อมูลทางด้านภาษาป้อนเข้าไปอยู่ตลอดเวลา เด็กทารกที่มีแม่เป็นใบ้ และหูหนวกจะไม่มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูด และไม่สามารถพูดได้จนกว่า จะได้รับการเลี้ยงดู จากคนเลี้ยงที่พูดได้ จะเห็นได้ว่าธรรมชาติมีความสำคัญแต่สิ่งแวดล้อมก็สำคัญไม่แพ้กันด้วย
การที่เด็กสามารถเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ป้อนเข้าไป เมื่อเราบอกเด็กว่าสิ่งต่าง ๆ เรียกว่าอะไร ข้อมูลเหล่านี้ก็จะเข้าไป อยู่ในเส้นใยประสาท กลุ่มของเซลล์ประสาทที่เป็นรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง เด็กจะรับรู้ว่ารูปร่างหน้าตาแบบนี้เรียกว่าอย่างนี้ เช่น แท่งยาว ๆ ที่ใช้เขียนได้ เรียกว่า ปากกา ยิ่งกว่านั้นขณะที่พ่อแม่บอกชื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ มีการแสดงความรู้สึกต่อสิ่งนั้นด้วย เช่น ถ้าเด็กชี้ไปที่ดอกไม้ และถามว่าอะไร พ่อแม่จะยิ้ม และบอกว่า "ดอกไม้" ซึ่งทำให้เด็กรู้ว่าพ่อแม่ชอบดอกไม้ ดอกไม้เป็นสิ่งที่พ่อแม่พอใจ ข้อมูลนี้ก็จะถูกเก็บเข้าไปในสมองเช่น กัน หรือถ้าลูกถามว่านี่อะไรแล้วชี้ไปที่สุนัขตัวใหญ่ ตัวสกปรก น่ากลัว พ่อแม่ทำหน้าตาว่า น่ากลัวแล้วบอกว่า "อย่าเข้าไปใกล้นะ น่ากลัว เดี๋ยวมันกัดเอา" ใส่ความรู้สึกน่ากลัวเข้าไปด้วย เด็กก็จะรับข้อมูลทั้งหลายนี้ เข้าไปเก็บไว้ในสมองด้วย หลังจากนั้นเมื่อเราเอ่ยชื่อ ของ หรือสิ่งบางสิ่ง เด็กจะนึกถึงของ หรือสิ่งนั้น พยายามมองหาสิ่งนั้น การที่ผู้ใหญ่เอ่ยชื่อวัตถุ หรือสิ่งต่าง ๆ เป็นการกระตุ้นเครือข่ายเซลล์ประสาทของเด็ก ทำให้เกิดการค้นหาข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ ตั้งแต่แรกในสมอง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าความจำนั่นเอง นี่คือพื้นฐานของการเรียนรู้ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ และเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งต่อการเรียนรู้ภาษาด้วย
8. การสร้างบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพของแต่ละคน จะเป็นสิ่งประจำตัวของคนคนนั้น ที่ทำให้แตกต่างจากคนอื่น และมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่จะประกอบกัน ทำให้คนแต่ละคน มีบุคลิกภาพเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานประสานกัน ของสมองที่ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และประสบการณ์ ที่ได้รับ จากสิ่งแวดล้อม
บุคลิกภาพมีความสำคัญต่อชีวิตเราอย่างยิ่ง ทำให้เรารู้สึกถึงความสำคัญของตัวเอง เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่รู้ว่า ขณะนี้ตัวเราเป็นคนอย่างไร และเราจะไม่มีทางเข้าใจว่าขณะนี้เราเป็นคนอย่างไร ถ้าไม่รู้ว่าเราควรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุด เราจะต้องค้นพบตัวเอง และเป็นตัวของตัวเอง
ทฤษฎีหนึ่งที่เกี่ยวกับ บุคลิกภาพอาศัยความสัมพันธ์ระหว่าง อารมณ์ และความสามารถในการรู้ตัวเอง (Self Awareness) ถือเป็นความฉลาด อย่างหนึ่ง เพราะการที่เราจะรู้ตัวเอง หรือรู้พฤติกรรมของเราเองได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามองตัวเราอย่างไร เมื่อเทียบกับสิ่งแวดล้อมในโลกนี้ และเราจะควบคุมพฤติกรรมของเราได้อย่างไร ซึ่งความสามารถที่จะจัดการ และควบคุมชีวิตเรานี้ เป็นความสามารถที่เรียกว่า ประสิทธิภาพส่วนบุคคล (Self Efficacy) คนที่มีประสิทธิภาพส่วนบุคคลสูง จะมีความมั่นใจในการมี พฤติกรรมโต้ตอบที่ถูกต้อง แต่คนที่มีประสิทธิภาพในตัวเองต่ำจะมีความกระวนกระวาย มีความกังวลเมื่อจะต้องมีการโต้ตอบต่อ สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของคนคนนั้น ความรู้ตัว และประสิทธิภาพส่วนตัวนี้เองจะรวมกันเป็นบุคลิกภาพขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น